ก่อนจะมาเป็น เมืองเวียงสา หรือ เวียงปรึกษา
เมืองเวียงสา หรือ เวียงปรึกษา ตามในหนังสือตำนานต่างๆจะไม่มีบอกเล่าจารึกไว้แต่อย่างใดทางผู้สืบค้นจึงได้ชักถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ และพอนำมาชึ่งเป็นการสรุปเนื้อเรื่องประวัติความเป็นมาของในยุคสมัยน่าจะก่อสร้างในสมัยรัชกาลของพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งหลังจากที่พระองค์ทรงรบชนะแก่พระยาขอมดำ และได้ทรงขับไล่ชนเผ่าขอมดำออกจากพระราชอาณาจักรโยนกนาคนคร และได้ทรงรวบรวมเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง เข้ารวมอยู่ในอาณาจักรโยนกนาคนคร หลังจากได้ทรงขับไล่ชนเผ่าขอมดำแล้วก็ได้อัญเชิญพระเจ้าพังคราชผู้เป็นพระราชบิดาแห่งตนได้ครองราชย์สมบัติเมืองหลวงโยนก เป็นครั้งที่ 2 ต่อไป และพระองค์ก็ได้ทรงสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นหลายเมืองที่สำคัญก็คือทรงสร้างเมืองไชยปราการเป็นต้นจะเห็นได้ว่าเมืองเวียงสาคงจะสร้างในรัชกาลของพระเจ้าพังคราชอยู่ในขณะนั้นอย่างใดก็ตามบัดนี้จะขอบรรยายเล่าไปตามประวัติศาสตร์ไทยไปตามยุคๆ ก็แล้วกันฯ


ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
ความเจริญของชนชาติไทยนี้ สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์บาบิโลเนียและอัสสิเรียโบราณ ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีนและก่อนชาวยุโรป ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีมาแล้วที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบันเมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช  ชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน  เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียงและได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น  แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม  เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น  มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับในขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว  ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์ ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน  ต่อมาเมื่อประมาณกว่าหนึ่งพันปีที่ไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเรียบร้อยแล้วชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง  และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครองและมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว  ในระหว่างระยะเวลานั้น  เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาว หรือพวกมุง ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักร ด้วยกันคือ

อาณาจักรลุง     ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
อาณาจักรปา     ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน
อาณาจักรปา     จัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น
อาณาจักรเงี้ยว  ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง

ทั้งสามอาณาจักรนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ  ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น  จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก  โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่ใหม่ มีอิทธิพลทำให้เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเดิม ตั้งแต่ครั้งยังทำการเลี้ยงสัตว์ ที่โหดเหี้ยม และชอบรุกราน  มาเป็นชนชาติที่มีใจกว้างขวาง รักสงบพอใจความสันติ อันเป็นอุปนิสัยที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงไทยรุ่นหลัง ต่อมาเหตุที่ชนชาติจีนเข้ามารู้จักชนชาติไทยเป็นครั้งแรก เมื่อแหล่งทำมาหากินทางแถบทะเลสาบแคสเบียนเกิดอัตคัตขาดแคลน  ทำให้ชนชาติจีนต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออก เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ชนชาติจีนได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน ที่ราบสูงโกบี  จนมาถึงลุ่มแม่น้ำไหว จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั้น และมีความเจริญขึ้นตามลำดับ  ปรากฎมีปฐมกษัตริย์ของจีนชื่อ ฟูฮี  ได้มีการสืบวงค์กษัตริย์กันต่อมา แต่ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่รู้จักกัน ล่วงมาจนถึงสมัยพระเจ้ายู้ จีนกับไทยจึงได้รู้จักกันครั้งแรก โดยมีสาเหตุมาจากที่พระเจ้ายู้ ได้มีรับสั่งให้มีการสำรวจ พระราชอาณาเขตขึ้น  ชาวจีนจึงได้มารู้จักชาวไทยได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอ้ายลาว จึงยกย่องนับถือถึงกับให้สมญาอาณาจักรอ้ายลาวว่า อาณาจักรไต๋  ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรใหญ่  สันนิษฐานว่า เป็นสมัยแรกที่จีนกับไทยได้แลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีต่อกัน


อาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกราน
เมื่อประมาณ 390 ปี ก่อนพุทธศักราช  พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย  อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้ ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล  พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก  เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ ชนชาติไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ 50 ปี ก่อนพุทธศักราช  แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่จนถึงประมาณ ก่อนค.ศ. 368 อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน  ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ ก่อน ค.ศ.338  ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป  ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่ พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อก่อน ค.ศ. 215

อาณาจักรเพงาย
ตั้งแต่ พ.ศ. ๔๐๐ - ๖๒๑  เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบและรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชนชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสระภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่ แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม  บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย เรียกว่าไทยแกว  บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๔๐๐  เรียกว่าอาณาจักรเพงาย ต่อมาในสมัยพระเจ้าขุนเมือง  ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียแต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย  พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ  ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๖  ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล  ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ. ๖๒๑ ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นและมีกำลังเข้มแข็ง ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ  โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม  นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๑๒ เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอมจึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. ๖๒๑


อาณาจักรน่านเจ้า
หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก  ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง ๖ เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม  แตกแยกออกเป็นสามก๊ก  ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๘๕๐ พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ  เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง  ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง  ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร  ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส  ล่างกง  มุ่งซุย  เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่นๆ  จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่นๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง ๖ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ หนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน  เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ  ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ ๕ นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส บรรดอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน  พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่ายูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ  วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง  ตังเกี๋ย  สิบสองปันนา  สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก และกาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนคร ขึ้นทางใต้  เมืองต่าง ๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ.๑๒๘๙) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ.๑๒๙๓ จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น  มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก ๓๒ หัวเมือง  แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ  ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง  ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต   เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา  มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทยเจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่งทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา  ต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๒๐ นั้น ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน  ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อยๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์  จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง 
จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปีพ.ศ. ๑๘๒๓ ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan)  กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น


ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า
ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นแล้ว
ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง  ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น ๙ กระทรวง คือ
กระทรวงว่าการทหาร              กระทรวงจัดการสำมะโนครัว                 กระทรวงราชประเพณี
กระทรวงยุติธรรม                   กระทรวงมหาดไทย                           กระทรวงโยธา
กระทรวงพาณิชย์                   กระทรวงการคลัง                             และกระทรวงการต่างประเทศ
มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ  กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง  ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธหากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน  อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง ในส่วนศาสนาประจำชาติ  ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ และ การศึกษา ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้ามีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง ชนชาติต่างๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่ ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ ขอม ละว้า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ขอมดำ ก็มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร  และตามมาคือคนลาวหรือละว้า ก็มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างคนขอมดำ และคนมอญ ส่วนสำหรับ คนมอญ นั้นก็มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี  ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่างหน้าตาภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม และต่อมา อาณาจักรละว้า บังเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรด้วยกันคือ
       อาณาจักรทวาราวดี  มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง
       อาณาจักรโยนกหรือยาง  เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง
       อาณาจักรโคตรบูรณ์  มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง
อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน 
จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย  นับตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐ เป็นต้นมา  ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์ ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่าตลอดถึงพื้นที่ทั่วไป ในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่าง ๆ มาเผยแพร่ คือ ศาสนาพุทธ  พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ  ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ  สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย  ศาสนาพราหมณ์  มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร  พระพรหม  และพระนารายณ์   นิติศาสตร์  ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง อักษรศาสตร์  พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่  ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ศิลปศาสตร์  ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป


การแผ่อำนาจของขอมและพม่า
ประมาณปี พ.ศ. ๖๐๑ โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย  ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น  ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้ แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทลาวดี ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ  เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดี  และมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอำนาจของขอมก็สูญสิ้นไปแต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้ว แต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่  ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ชาวขอมดำโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนกส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อนจึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จ



พระเจ้าพังคราชกษัตริย์แห่งโยนก
พระเจ้าพังคราชกษัตริย์แห่งโยนกลำดับที่๔๓ ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสี่ทวง หลังจากได้อพยกย้ายไปอยู่ที่เวียงสี่ตวงและ พระเจ้าพังคราช จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพวกขอม คือให้พระเจ้าพังคราชทำหน้าที่ส่งส่วยเป็นประจำเรื่อยมา ครั้นเมื่อพระเจ้าพังคราชได้อาศัยอยู่ในเวียงสี่ตวงได้ครอบ 1 ปี พระเจ้าพังคราช ก็ได้ประสูติพระราชโอรสออกมาเป็นองค์แรกจึงได้ตั้งพระนามพระโอรสว่า ทุกขิตราชกุมารท่านได้ประสูตรออกมาเห็นโลกในระหว่างช่วงวิกฤต์ ในฐานะที่เป็นเมืองขึ้นของพวกขอม  เมื่อขอมได้ขับไล่กษัตริย์ไทย ออกไปจากเมืองเชียงแสนแล้ว ก็เข้ามาอาศัย อยู่ปกครองคนไทยในเมืองเชียงแสนจึงทำให้คนไทยนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของพญาขอมดำ ต่อมาเมืองเชียงแสนนี้ก็ได้รับความกดขี่ข่มเหง จากเจ้านายขอมต่างๆนาๆ ทั้งดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยามคนไทย เป็นการบีบคั้นทางจิตใจ คนไทยอย่างรุนแรงมาโดยตลอด ครั้นอยู่ต่อมาอีกสองปี จึงได้พระราชโอรสองค์ที่สองนี้ เมื่อประสูติออกมานั้นมีพระวรกายงดงามทรงตั้งพระนามว่า พรหมราชกุมารพระองค์ประสูติในวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (คือเดือน 4 ใต้) ปีมะเส็ง พ.ศ. 1461 ขณะที่พระมเหสีทรงครรภ์ราชโอรสองค์นี้ได้ 7 เดือน ได้กราบทูลพระสวามีว่า ขอให้นำเอาศาตราวุธมาให้ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่ใช้ในราชการสงคราม พระสวามีก็แสวงหามาตกแต่งไว้ในห้องให้พระมเหสีทอดพระเนตรทุกวัน ในที่สุดก็ประสูติพระราชโอรส ตามตำนานได้กล่าวถึงอิทธิปาฏิหาริย์อันเกิดจากพระองค์ว่า เมื่อพระชนม์ได้ 7 พรรษาก็ทรงชอบเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำรับยุทธวิธีสงคราม เมื่อพระราชกุมารทรงพระเจริญวัยขึ้นมีพระชนม์ 13 พรรษา คืนหนึ่งทรงพระสุบินว่ามีเทวดามาบอกพระองค์ว่า ถ้าอยากได้ช้างเผือกคู่พระบารมีสำหรับทำศึกสงครามแล้วไซร้ วันพรุ่งนี้ตอนเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นให้ออกไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง แล้วคอยดูจะมีช้างเผือกล่องน้ำมาตามแม่น้ำโขง 3 ตัวด้วยกัน ถ้าจับได้ตัวใดตัวหนึ่งก็จะใช้เป็นพาหนะทำศึกสงคราม ถ้าจับได้ตัวที่หนึ่งจะปราบได้ทั้งสี่ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สองจะปราบได้ทั่วชมพูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่สามจะดินแดนแคว้นล้านนาไทยได้ทั้งหมด สิ้นสุบินนิมิตรแล้ว เจ้าพรหมราชกุมารตื่นจากบรรทม ไม่ทันสรงพระพักตร์ไปเรียกมหาดเล็กของท่าน ซึ่งเป็นลูกทหารแม่ทัพนายกองจำนวน 50 คน ให้ไปตัดไม้รวกเป็นขอตามคำเทวดาบอก ให้ใช้ขอไม้รวกและเกาะคอช้างจะได้ลากขึ้นฝั่ง แล้วพากันไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง พอได้สักครู่ใหญ่ ๆ ท้องฟ้าก็สว่าง ในขณะนั้นมีงูใหญ่ตัวหนึ่งสีเหลืองตัวใหญ่โตประมาณ 3 อ้อม ยาว 10 กว่าวา ลอยมาตามแม่น้ำโขง เข้ามาใกล้ฝั่งที่พระองค์และมหาดเล็กอยู่นั้นเจ้าพรหมราชกุมารและมหาดเล็กเห็นเข้าก็ตกใจกลัวมิอาจเข้าไปใกล้ได้ เจ้างูนั้นก็เลยล่องผ่านไป พออีกสักครู่ใหญ่ ๆ ก็มีงูลอยตามน้ำมาอีกแต่ตัวเล็กกว่าเก่า ขนาดก็สั้นกว่าตัวเก่าเป็นงูอย่างเดียวกันก็ลอยล่องไปอีก เจ้าพรหมราชกุมารไม่กล้าทำอะไร พอตัวที่สองนี้ผ่านไปได้ครู่ใหญ่ ๆ ก็นึกว่าเทวดาบอกว่าจะมีช้างเผือกลอยมา 3 ตัว ไม่เห็นช้างเผือกลอยมาสักตัวเห็นแต่งูลอยมาสองตัวแล้ว ถ้าหากว่ามีอีกตัวหนึ่งต้องเป็นช้างเผือกแน่ ตัวที่สามนี้อย่างไรก็ต้องเอาละเพราะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว พอเจ้างูตัวที่ 3 ลอยมา เจ้าพรหมก็ลงน้ำและบุกน้ำลงไป ไปถึงก็เอาไม้รวกเกาะคองูนั้น พอขอไม้รวกเกาะคองู งูก็แปรสภาพเป็นช้างเผือกทันที มหาดเล็ก 50 คน ก็ช่วยกันเอาขอไม้รวกเกาะคอช้างจะเอาขึ้นฝั่งทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เดินไปเดินมา อยู่ในน้ำนั่นเอง เจ้าพรหมราชกุมาร ก็ใช้ให้มหาดเล็กไปกราบทูลพระราชบิดาว่าได้ช้างเผือกแล้ว แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เมื่อพระเจ้าพังคราชทรงทราบเช่นนั้นก็เรียกโหรหลวงมาถาม โหรหลวงก็ทูลว่า ให้เอาทองคำประมาณยี่สิบตำลึงมาตีพางอันหนึ่ง (พางคือระฆังหรือกระดิ่งผูกคอช้าง) แล้วบอกว่าให้พระราชโอรสองค์ใหญ่เอาพางไปที่ฝั่งแม่น้ำ และเอาไม้ตีพางเข้าพอพางดังช้างจะขึ้นฝั่งเอง พระเจ้าพังคราชก็มีรับสั่งให้ทำพางขึ้นและนำไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง และไม้เคาะที่พางก็มีเสียงดังเหมือนระฆัง ช้างก็ขึ้นมาจากฝั่ง เจ้าพรหมกุมารก็นำช้างเข้าเมือง พระราชบิดาก็สร้างโรงช้างเผือกเข้าเลี้ยงบำรุงไว้ที่นั่น ช้างก็เลยได้ชื่อว่า ช้างเผือกพางคำแล้วเจ้าพรหมกุมารก็ได้โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยขุดคูเอาน้ำจากแม่น้ำสายมาเป็นคูเมืองและให้ชื่อว่า เมืองพานคำ” ( ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายตรงที่สำนักงานไร่ยาสูบ อ.แม่สายในปัจจุบัน ) และทรงใช้เวียงพานคำนี้เป็นแหล่งชุมนุมไพร่พล เพราะเวียงพานคำมีอาณาเขตเป็นที่ราบกว้างอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเหมาะแก่การประชุมพล นับแต่นั้นมา พระองค์ก็ฝึกซ้อมทหารให้ชำนาญในยุทธวิธี และสะสมเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้มากมาย ทรงทราบว่าบ้านเมืองของพระองค์เป็นประเทศราชของขอม พระบิดาต้องส่งส่วยให้ขอมทุกปี ก็ทรงพระดำริที่จะกอบกู้เอกราช โดยประกาศแข็งเมืองไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่กษัตริย์ขอมดำ การสงครามระหว่างไทยกับขอมดำก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า คราวนี้ขอมพ่ายแพ้ และตีหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจของขอมกลับคืนหมด จากนั้นพระเจ้าพรหมราชกุมารก็ทรงดำริต่อไปว่า หากปล่อยให้ขอมดำมีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่อาณาเขตติดต่อกันเช่นนี้ ไม่ช้าสงครามก็จะเกิดขึ้นอีก และถ้าเผลอก็จะตกเป็นทาสของขอมอีก พระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทย ใน พ.ศ. 1497 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่อาณาจักรโยนกหรือโยนกนาคพันธ์ ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอมมาเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเมื่อพระองค์แข็งเมืองขึ้นนั้นก็เป็นเหตุให้พวกขอมยกทัพใหญ่มาเพื่อจะทำการปราบปราม ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น แต่ด้วยความรักชาติบ้านเมือง รักในความเป็นอิสรเสรี และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพระองค์ในที่จะปลดแยกอาณาจักรโยนกออกจากการปกครองของพวกขอม พระองค์จึงยกกองทัพใหญ่ไล่จับพวกขอมที่เป็นชายฆ่าเสียเกือบหมด พวกที่รอดตายไปได้ คือพวกที่มาทางใต้ พระเจ้าพรหมฯ ตั้งพระทัยที่จะทำลายพวกขอมให้หมดสิ้น เป็นการขับไล่ชนิดที่เรียกว่า กวาดล้างเพราะพวกขอมมีหลายหัวเมืองด้วยกัน เช่น เมืองหริภุญชัย เมืองสุโขทัย เมืองละโว้ เมืองศรีสัชชนาลัย เมื่อขับไล่มาถึงเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วกษัตริย์ขอมดำที่เป็นเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยไม่กล้าสู้ ยอมแพ้และยอมถวายพระราชธิดาองค์หนึ่ง
ด้วยการรบอย่างรุนแรง เพื่อจะขจัดอิทธิพลของพวกขอมนั่นเอง ในตำนานโยนกจึงได้กล่าวถึงปาฏิหาริย์ที่จะยับยั้งมิให้พระองค์ทำการรุกไล่พวกขอมต่อไปว่า ร้อนถึงพระอินทร์เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เล็งทิพย์เนตรมาเห็น ถ้าไม่ไปช่วยไว้ ขอมจะต้องตายหมด ชีวิตมนุษย์ก็จะเป็นอันตรายมากจำต้องช่วยป้องกันไว้ จึงมีเทวองค์การสั่งให้พระวิศณุกรรมเทพบุตรลงไปเนรมิตรกำแพงแก้ว ก็หยุดเพียงแค่นั้น ไม่ได้ไล่ตามต่อไป ที่ตั้งกำแพงแก้วนี้ ต่อมาเกิดมีเมืองขึ้นเมืองหนึ่งมีชื่อว่า เมืองวชิรปราการแปลตามพยัญชนะว่า กำแพงเพชรคือจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบันนี้ ข้อความในตำนานนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่าเมื่อพระเจ้าพรหมลุกไล่พวกขอมลงไปทางใต้เป็นระยะทางไกลพอสมควรแล้ว ทรงเห็นว่าพวกขอมที่แตกพ่ายไปอย่างไม่เป็นกระบวนนั้น คงไม่สามารถที่จะรวมกำลังยกกองทัพมารวบกวนได้อีก และประกอบกับบรรดาไพร่พลของพระองค์อิดโรยอ่อนกำลัง เพราะทำการสู้รบติดพันกันเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ ได้อาณาเขตกว้างขวางมากอยู่พอแล้ว มีพระราชประสงค์จะหยุดพักไพร่พลเสียบ้างจึงได้ยกกองทัพกลับมายังบ้านเมือง คืออาณาจักรโยนกนคร ครั้นพระเจ้าพรหมเสด็จมาถึงโยนกนครแล้วก็ทรงอัญเชิญให้พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในนครโยนกตามเดิมและให้เจ้าทุขิตราชกุมารพระเชษฐาเป็นมหาอุปราช แต่ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เมืองชัยบุรีเพราะว่าที่ตีมานี้ได้ชัยชนะ ( บางทีเรียกว่า ชัยบุรีเชียงแสนหรือไม่ก็เรียกว่า เมืองเชียงแสนชัยบุรี” ) นอกจากนั้นพระเจ้าพรหมฯ กับพระราชบิดายังช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร พระเจดีย์ที่ทรงสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์เรียกว่า เจดีย์จอมกิตติ” (เดี๋ยวนี้เรียกว่าพระธาตุจอมกิตติ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บนเขาสูงบนฝั่งน้ำแม่โขง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนปัจจุบันไปทางซ้ายมือประมาณ 1 ก.ม. เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป) หลังจากที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงอัญเชิญให้พระราชบิดาคือพระเจ้าพังคราชเสด็จครองเมืองชัยบุรีเชียงแสนแล้ว พระองค์จึงนำเอาหมู่กองทัพเสด็จไปทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุมงคลเสลาเก่า เมื่อพ.ศ. ๑๔๘๐ เพื่อเป็นด่านหน้าคอยป้องกันพวกขอมยกทัพกลับมาตีจึงได้รบรวมพลทหารทั้งหลายช่วยกันสร้างนครผืนดินแห่งนี้ขึ้นมาตามลำดับเรื่อยมา และได้สถาปนายกเมืองแห่งนี้ให้เป็นเมืองหน้าด่านคอยรับมือจากข้าศึกที่จะมาทางฝ่ายวันออก และวันตก จึงรับสั่งให้หมู่ทหารทั้งหลายช่วยกันสร้างกำแพง และประตูเวียงต่างๆ และให้ขุดคูเมืองโดยรอบทุกทิศ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามเมืองว่า เมืองไชยปราการซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอชัยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ใน พ.ศ.1481 เมืองนั้นอยู่ห่างจากเมืองชัยบุรีเชียงแสน ระยะทางประมาณ 300 ก.ม.


เมืองเวียงสา - เวียงปรึกษา
เมืองเวียงสา รัฐทสมัยแคว้น เมืองไชยประการ หลังจากที่พระเจ้าพรหมมหาราชได้รวบรวมเมืองใหญ่เมืองเล็กเข้าด้วยกันให้เป็นปรึกแผ่น และก่อสร้างเมืองไชยปราการขึ้นมานั้นพระองค์ทรงได้กระจายอำนาจให้หมู่แม่ทัพทั้งหลายได้พากันเอาเหล่าทหากระจายไปช่วยกันสร้างเมืองต่างในแว่นแคว้น เมืองไชยปราการนี้ขึ้นหลังจากนั้นทรงรับสั้งให้แม่ทัพทุกๆทัพได้ช่วยกันปกครองดูแลบ้านเมืองกันเอง และป้องกันข้าศึกที่อาจจะเข้ามาจมตีรุกรานอีกครั้ง จึงให้แม่ทัพทุกเมืองได้สร้างกำแพงขึ้น และได้ขุดคูเมืองโดยรอบเสีย  เพื่อป้องกันข้าศึกและกองทัพช้างของพวกขอมดำที่อาจกลับมาตีเอาเมืองคืน จากนั้นมาพระองค์ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในพ.ศ.1480 เพื่อครอง เมืองไชยปราการให้พี่น้องประชาราชได้อยู่ดีเป็นสุข บ้านเมืองสงบต่อมาในปี พ.ศ.1482 ได้มีพระราชองค์การยกเอาเมืองเวียงสาให้เป็นหัวเมืองขนานชื่อใหม่ว่า เวียงปรึกษาเพื่อแต่งตั้งให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกที่จะรุกรานเมืองหลวงเท่านั้น และมีพระราชรับสั่งให้ขึ้นตรงต่อนครเชียงแสน เมืองเวียงสา เวียงหน้าด่าน คูเมือง จดกับด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันได้พัฒนาบุกเบิกให้เป็นเส้นทางผ่านเข้า - ออกบ้านแม่สลองนอก และ ถูกนำมาใช้เป็นสาธารณะประโยชน์สุสานป่าช้า ส่วนคูเมืองนั้นไม่มีน้ำขังเพียงแต่ขุดไว้เพื่อป้องกันกองทัพช้างเท่านั้น เมืองเวียงสายังเป็นหัวเมืองตลอดมา ต่อมาในครั้งนั้นแว่นแคว้นโยนก และ แว่นแคว้นเมืองไชยปราการ นับว่ามีกำลังแข็งแรงมาก จากที่พระเจ้าพรหมมหาราช ได้ทรงวางกำลังป้องกันพวกขอมไว้อย่างแข็งแรง จนพวกขอมไม่กล้าที่จะยกกองทัพมารบกวนรุกรานอีกต่อไปตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าพรหมมหาราช มีราชโอรสองค์เดียว คือพระเจ้าสิริไชย หรือพระเจ้าไชยสิริ พระองค์ทรงปกครองราชบัลลังค์ได้ 60 ปี เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1538 เมื่อพระชนมายุ 77 ชัญษา เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว หมู่องค์มุขมนตรีก็อัญเชิญพระเจ้าสิริไชยราชโอรสขึ้นครองราชย์ปกครองบ้านเมืองเป็นกษัตริย์นครไชยปราการสืบต่อไป หลังจากได้พระเจ้าไชยศิริ พระราชโอรสของพระเจ้าพรหมมหาราชได้สืบราชสมบัติต่อมา ครั้นถึงปี พ.ศ.1702 จากนั้นก็ได้มีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ไทยไปตามยุคต่างๆ  จนมาถึง ในรัฐสมัย พ.ศ. 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง ประมาณ 300 ครอบครัว มาอยู่เมืองเชียงแสนตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงราย และนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ.2417 เจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่เกณฑ์กำลังจากเชียงใหม่ นครลำปาง เมืองลำพูน มีไพร่ทั้งสิ้น 4,500 คน  ยกจากเชียงใหม่มาเชียงรายและเชียงแสน ไล่ต้อนพวกนั้นออกจากเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2423 จึงได้ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องของเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน เป็นหัวหน้า นำราษฎรเมืองลำปาง เมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก ปักซั้งตั้งถิ่นอยู่เมืองเชียงแสน นับเป็นการ สร้างบ้านแปงเมือง ครั้งใหญ่ของเมืองเชียงแสน กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกได้มาตั้งถิ่นฐาน ทำกินอยู่เรียงรายตามลำแม่น้ำแม่คำ ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก จนถึงเขตเชียงแสน ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง เขตประเทศลาวในปัจจุบันนับแต่นั้นมาเมืองเวียงสาแห่งนี้จึงเป็นที่พักช้างแก่ผู้ที่เลี้ยงช้างสัญจรไปมาระหว่างการค้าขาย และการติดต่อในราชอาณาจักรตามถ้องถิ่น และวัฒนธรรม และเป็นที่เลี้ยงฝูงงัวควาย แก่ผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านก่อนหน้านี้หลายๆหมู่บ้านด้วยกัน และจึงใช้ผืนดินแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมแก่หมู่เลี้ยงสัตว์ทั้งหลายต่อมาจึงเรียกผืนดินแห่งนี้ว่าเวียงปรึกษาตามที่พระเจ้าพหมมหาราชได้ตั้งไว้แต่สมัยเมืองไชยปราการ นับแต่นั้นมาจนถึงในปีพุทธศักราช 2467  ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันอพยพมาจากบ้านบอม ตำบลบ้านบอม อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง ได้อพยพครอบครัว และญาติพี่น้องเดินทางมายังพื้นที่แห่งนี้ เพื่อมาหาถิ่นฐานปักหลักแปงบ้านเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำกินเลี้ยงท้องจึงได้เลงเห็นผืนดินแห่งนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ดีนักแล จึงได้เปลี่ยนศัพท์นาม  จากเวียงปรึกษา กลายมาเป็นบ้านเวียงสาแทน จากนั้นมาก็ได้บุกเบิกผืนดินแห่งนี้ขึ้นมาตามไปลำดับโดยมีผู้ที่นำชาวบ้านมาก่อตั้งพอจำชื่อได้ มีดังนี้
            1. นายไหว     หูน้อย               2. นายด้าย    ผาบสายยาน        3. นายจันทร์    จักปา
            4. นายด้วง       กองมา            5. นายติ๊บ     สองมา                6. นายซ้อน      สิงห์มณี 
            7.นายเปา         สองมา
จากนั้นได้พากันมาพัฒนารกรากฐาน  ณ ที่ตั้งของหมู่บ้านขึ้นมาเป็นไปตามลำดับ และได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำหมู่บ้านเรื่อยมาจนมาในปี พ.ศ.2487 หมู่บ้านเวียงสาได้มีประชากรเริ่มมากขึ้น ที่เดินทางมาจากทุกทิศทางและบางกลุ่มก็ได้อพยพมาจากแดนดินทางแม่สาย เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก ส่วนมากก็จะเป็นพวกเผ่า ไตยใหญ่ และไตยลั๊วะ ไตยลื้อ ไตยขืน อาข่า และถิ่นกำเนิดพี่น้องคนเมืองมาจำลำปางเป็นต้น จึงได้มาอาศัยรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และก่อตั้งพัฒนาบุกเบิกหมู่บ้านเวียงสาขึ้นมาเป็นไปตามอัตลักษณ์ของหมู่บ้านเหมือนชุมชนทั่วไป