เทศกาลสงกรานต์ล้านนา


ความเป็นมาของวันสงกรานต์
เทศกาลสงกรานต์นี้ ชาวล้านนาเรียกว่า   ปาเวณีปีใหม่  ( อ่าน " ป๋าเวณีปี๋ใหม่ " ) ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า  " ประเพณีสงกรานต์  ในช่วงเทศกาลซึ่งกินเวลา 5 วันนี้   ชาวล้านนาจะเฉลิมฉลองวาระนี้ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรมโดยตลอดจะมีวันและพิธีกรรม   การละเล่นหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน ดังนี้

วันสงกรานต์ล่อง หรือมหาสงกรานต์             
ในวันนี้ ตั้งแต่เช้าตรู่ จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด มีการซักเสื้อผ้า ส่วนที่นอนหรือสิ่งที่ซักไม่
ได้ก็จะนำออกไปตากหรือปัดฝุ่นเสีย ในบริเวณบ้านก็จะเก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่างๆ เสื้อผ้าที่นุ่งห่มก็จะ
เป็นเสื้อผ้าใหม่ พ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูป พระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบ น้ำหอมหรือน้ำ ขมิ้นส้มป่อย  ส่วนดอกไม้บูชาพระ ซึ่งมักจะเป็นยอดของต้นหมากผู้-หมากเมีย ในไหดอกหรือแจกันนั้นก็จะเปลี่ยนใหม่ด้วย

วันเนาหรือวันเนาว์              
จะเป็นวันเตรียมงานชาวบ้านจะพากันไปซื้อของกินเพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะ
มีการขนทรายเข้าวัด เพื่อกองรวมกันทำเป็นเจดีย์     การขนทรายเข้าวัดนี้ ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัด ซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด ในขณะที่มีการสร้างเจดีย์ทรายที่วัดนั้น ทางบ้านก็จะจัดเตรียมตัดกระดาษสีต่างๆ มาทำทุง  ( อ่านว่า ตุง " )     หรือธงอย่างธงตะขาบชาวบ้านจะนำทุงที่ตัดเป็นเป็นลวดลายนำไปปักที่เจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น  
วันเนา นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่ ดา  หรือจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ทั้งข้าวของรวมไปถึงอาหารและขนมที่จะใช้ทำบุญและใช้บริโภคในวันพญาวัน     ขนมที่นิยมทำกันในเทศกาลสงกรานต์นี้มีหลายชนิด เช่น เข้าหนมจ็อก คือขนมใส่ใส้อย่างขนมเทียน เข้าหนมปาด  หรือ  ศิลาอ่อน  คือขนมอย่างขนมถาดของภาคกลาง  เข้าแตน  ( อ่านว่า " ข้าวแต่น " )  คือขนมนางเล็ด  ข้าวแคบ   คือข้าวเกรียบซึ่งมีขนาดประมาณฝ่ามือ  ข้าวตวบ  คือข้าวเกรียบว่าว เข้าพอง  ( อ่านว่า " ข้าวปอง " )   คือขนมอย่างข้าวพองของภาคกลาง เข้าหนมตายลืม  คือข้าวเหนียวคนกะทิและใส่น้ำอ้อยแล้วนึ่งแต่ไม่ให้สุกดีนัก เข้าต้มหัวหงอก  คือข้าวต้มมัดที่โรยด้วยฝอยมะพร้าวขูด เข้าหนมวง คือขนมกง เข้าหนมเกลือ ( อ่านว่า " เข้าหนมเกื้อ " )  คือขนมเกลือ   แต่ทั้งนี้ขนมที่นิยมทำมากที่สุดในช่องเทศกาลคือ เข้าหนมจ็อก

วันพระญาวัน
เป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนา  ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่จะมีคนนำเอาสำรับอาหารคาวหวานต่างๆ   ไปทำบุญถวายพระตามวัด   อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้จะนำสำรับอาหารไปมอบให้กับบิดามารดา ปูย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ   หลังจากนั้นจะนำทุงหรือธงซึ่งได้เตรียมไว้แต่วันก่อนนี้ไปปักบนเจดีย์ทราย ส่วนในตอนบ่ายจะมีการไปดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส ผู้มีบุญคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษอันเนื่องจากที่อาจได้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่อท่านเหล่านั้น   การดำหัวนี้อาจนับรวมถึง การดำหัวพระเจ้า  คือการแสดงคารวะต่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมือง  เช่น พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวในวัดเชียงมั่น พระพุทธสิหิงค์ และพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพระสิงห์  พระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอก เป็นต้น   นอกจาก การดำหัวพระเจ้าแล้วอาจจะมีการดำหัวกู่ ที่บรรจุพระอัฐิของบรรพบุรุษ หรือเจ้านายที่ได้ทำคุณงามความดีไว้ต่อบ้านเมือง และอาจอาจกระทำแก่ครูบาอาจารย์   ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลสำคัญในชุมชนนั้น ๆ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น  ซึ่งการไปดำหัวนี้ หากไปดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิทธิของส่วนรวมหรือดำหัวผู้บงคับบัญชาแล้ว  ก็อาจมีการจัดขบวนดำหัวเป็นการเอิกเกริกก็ได้ เครื่องพิธีสำหรับดำหัวนั้น ประกอบด้วยเครื่องเคารพซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย และของบริวารอื่นๆ เช่น มะม่วง มะปราง แตงกวา มะพร้างอ่อน กล้วย อ้อย ขนม ข้าวต้ม หมากพลู เมี่ยงบุหรี่หรือมีเงินทองใส่ไปด้วยก็ได้  หรืออาจจะมีเสื้อผ้า กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าขนหนู   หรือของที่ระลึกอื่นๆ จัดตกแต่งใส่พานหรือภาชนะให้เรียบร้อยสวยงาม  หรือจัดอย่างพานบายศรีพุ่มดอกไม้  การไปดำหัวที่ไปเป็นขบวนนี้ มักจะไปในตอนเย็น  หรือประมาณ 16.00 -17.00 .
วันสำคัญที่ 4  ในเทศกาลสงกรานต์  คือวันปากปี  ซึ่งถือว่าเป็นเริ่มต้นของปีใหม่   ในวันนี้ชาวบ้านจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า
วันเน่าไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่า จะอับโชคไปทั้งปี
วันเน่าควรตัดไม้ไผ่ที่จะสร้างบ้าน มอดปลวกจะไม่มากิน

ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวัน
วันพญาวันควรกินข้าวกับลาบ เพราะจะทำให้มีโชคลาภตลอดปี
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 12 กล่าวถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวันว่า
พญาวันมาในวันอาทิตย์ ยักษ์มาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ห้ามทำการมงคลกรรมในวันอาทิตย์
พญาวันมาในวันจันทร์ นางธรณีมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ห้ามทำการมงคลกรรมในวันจันทร์ในปีนั้นดีนัก
พญาวันมาในวันอังคาร พญาวัวอุศุภราชมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ทำการมงคลกรรมในวันอังคารดีนัก 
พญาวันมาในวันพุธและวันพฤหัสบดี นาคมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการมงคลกรรมใดๆ ในวันพุธได้ผลดี
พญาวันมาในวันศุกร์ ช้างมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการใดๆ ในวันศุกร์ของปีนั้นให้ผลสมบูรณ์ดี
พญาวันมาในวันเสาร์ พญามารมาเฝ้าแผ่นดิน การมงคลที่ทำในวันพฤหัสบดีในปีนั้นไม่ดี

ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี
วันปากปีควรกินข้าวกับแกงขนุน เพราะจะมีสิ่งดีๆ มาอุดหนุนค้ำจุนตลอดปี

ความหมายและความสำคัญด้วยคำว่า ปีใหม่เมือง คนเมืองหมายถึงคนพื้นเมืองในเขตแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย บางครั้งถูกเรียกว่าคนเหนือหรือชาวเหนือ หรือคนล้นนาหรือชาวล้านนา
ปีใหม่หมายถึงการกำหนดจุดเริ่มต้นของปีแต่ละปี ปีใหม่เมืองกำหนดเอาจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ  มักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นส่วนมาก  แต่ก็มีบ้างที่บางปีตรงกับวันที่ 14 เมษายน อย่างในปี จุดกำเนิดของประเพณีปีใหม่เมืองนั้นยากที่จะระบุวันเวลาที่แน่นอนได้ว่าเกิดขึ้นในยุคใด สมัยใดในประวัติศาสตร์ เพราะยังหาหลักฐานที่จะมารองรับไม่พบ เข้าใจกันแต่ว่ามีมาเนิ่นนานแล้ว แต่จะน่านเท่าไรไม่มีใครรู้ อาจจะอนุมานได้คร่าวๆ ว่าประเพณีปีใหม่เมืองน่าจะเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกซึ้งแล้วในสังคมคนพื้นบ้านพื้นเมือง เพราะความรู้เกี่ยวกับเรื่องจักรราศีและการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์นั้นไม่ใช่ความรู้เดิมของคนเมือง แต่เป็นองค์ความรู้ที่ติดมากับพุทธศาสนาพุทธศาสนา เริ่มเข้ามาในท้องถิ่นเมื่อราว พ.ศ. 1100 กว่าๆ (พุทธศตวรรษที่ 12) เมื่อคราวพระนางจามเทวีเสด็จจากละโว้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย หากข้อความทั้งหมดเป็นจริง นั่นก็แสดงว่าก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 ดังกล่าว ผู้คนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ยังไม่รุ้จักพุทธศาสนา ยังไม่ได้รับองค์ความรู้ต่างๆ ที่ติดมากับพุทธศาสนา เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่บนท้องฟ้าเป็นราศีต่างๆ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุบนท้องฟ้า เป็นต้น

          ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ปีใหม่เมืองที่กำหนดเอาช่วงที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ยังไม่มีในหมู่คนพื้นเมืองในยุคก่อนพุทธศตวรรษที่ 12  และก่อนช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ในพื้นที่ๆ เรียกว่าแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยนี้ คนพื้นเมืองที่อยู่ที่นี่ อาจไม่ใช่คนพื้นเมืองกลุ่มเดียวกันกับปัจจุบัน อาจจะคนละสายเลือด คนละวัฒนธรรมก็เป็นได้หรืออาจจะเป็นสายเลือดเดียวกัน แต่มีลักษณะคลี่คลายทางวัฒนธรรม จนกลายมาเป็นคนเมืองในปัจจุบันเป็นได้

ความสำคัญของปีใหม่เมือง

          ปีใหม่เมืองอย่างที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้ จะมีอายุยาวนานมาสักแค่ไหนสุดที่จะรู้ได้ รับรู้กันแต่ว่ามีมานาน สืบสายกันมาหลายชั่วคนจนยอมรับกันว่าเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนล้านนา ความสำคัญของปีใหม่เมืองที่มีต่อคนเมืองนั้นมีมากมายหลายประการ อาจจำแนกได้ดังนี้
1. เป็นการเปลี่ยนปี 
    คนเมืองจะนับปีตามปีใหม่เมือง พอถึงปีใหม่จะกลายเป็นปีหนึ่งที่ไม่ใช่ปีเดิม อายุเราจะเพิ่มขึ้นอีกปี
2. เป็นการเตือนตน
    สำรวจตรวจสอบตนเอง สืบเนื่องจากข้อ 1 การเปลี่ยนปีทำให้อายุเพิ่มขึ้น การที่อายุเพิ่มขึ้นจะเป็นการย้ำเตือนให้คนเมืองรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของวันวัยและสังขาร เด็กๆ จะรู้ว่าพวกเข้าเติบโตขึ้นอีกปี หนุ่มสาวจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ผู้ใหญ่จะสำรวจตรวจสอบตัวเองว่าเราเริ่มก้าวเข้าสู่วัยถดถอย จะเริ่มปลง ไม่ยึดมั่นถือมั่นหนักแน่นเช่นวัยหนุ่มสาว เลือดลมจะค่อยเย็นลง ส่วนคนชราก็จะตระหนักรู้ว่าทางเดินชีวิตของเราใกล้สิ้นสุดแล้ว จะยอมรับถึงความจริงสูงสุดของชีวิต นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนชราที่เป็นอยู่ในวิถีคนเมือง จะไม่ค่อยดิ้นรนขัดขืนความเป็นจริงสูงสุดของชีวิต จะยอมรับความตายได้โดยสงบ
3. เป็นการชำระสะส่างสิ่งที่ไม่ดี 
     สืบเนื่องจากข้อ 2 ปีใหม่เมืองเป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองมักจะสำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ล่วงแล้วมา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ ความประพฤติ ข้อปฏิบัติต่างๆ เมื่อพบข้อบกพร่องก็มักจะตั้งจิตตั้งใจชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไปอันใดที่มันร้ายๆ หรือมันไม่ดี ก็ขอให้ดับไปกับไฟ ให้ไหลไปกับน้ำ ให้ล่องไปกับสังขาร
4. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง 

     ปีใหม่เมืองมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งที่เป็นวัตถุและความเคลื่อนไหว เช่นมีเสื้อผ้าใหม่ มีข้าวของเครื่องใช้ใหม่ มีความคึกคักเคลื่อนไหวในการต้นรับปีใหม่ สิ่งใหม่ๆ เหล่านนี้จะไปกระตุ้นจิตใจที่ป่าวยไข้หรือซบเซาหรือท้อแท้ถดถอยให้มีแรงขึ้น จะเกิดการตั้งใจใหม่ ตั้งความหวังใหม่ พยายามใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง