พิธีจัดอบรมสมโภชพระพุทธรูปแบบล้านนา
สิทธิการิยะ โบราณาจารย์ปราชญ์เจ้ากล่าวไว้ว่า การจักอบรมสมโภชพระพุทธรูปเจ้าปิมปา จะเป็นองค์เล็ก องค์ใหญ่ จะสร้างใหม่ หรือจะเป็นของเก่า รวมทั้งพระบรมธาตุเจ้าเจดีย์ ให้มีศรีเตชานุภาพศักดิ์สิทธิ์วุฒิเจริญรุ่งเรืองสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาบูชากราบไหว้ ให้ปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่ให้เรียบร้อย (บริเวณพิธีให้ล้อมรั้วขัดราชวัตร ปักฉัตรเงินฉัตรทอง) ปลูกต้นกล้วยต้นอ้อย ปักช่อ - ตุง แขวนประทีปโคมไฟ ทำจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้วปราศจากมลทินทั้งปวง จัดให้มีการทำบุญตักบาตร ให้ทานรักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ และสวดเบิก แล้วสระสรงอาบองค์พระพุทธรูป หรือองค์พระเจดีย์ใหม่ด้วยสุคนธจวนจันทน์ น้ำอบน้ำหอม น้ำขมิ้นส้มป่อย แล้วให้เขียนบทสวด คือ อะวิชชาปัจจะยา ฯ ๑, ยะทา หะเว ฯ ๑, อะเนกะชาติสังสารัง ฯ ๑ ทั้ง 3 บทใส่หลาบเงินหลาบคำ หรือใบตาลใบลานไว้ที่อกหรือตักของพระพุทธรูปใหม่ จัดอาสนา (เตียงพระพุทธรูป) ๑ หลัง มีเครื่องอัฏฐบริขารพร้อม จัดเครื่องกกุธภัณฑ์ ๕ มีละแอ บังวัน (ดูของโบราณเป็นตัวอย่าง) หากล้าไม้ศรี (ต้นโพธิ์) อันควรปลูก ๑ ต้น ตั้งไว้ในหม้อดินทราย รดน้ำให้ชุ่ม นำมาตั้งไว้ ณ ที่อันควร หาหญ้าคาเขียวและมัดด้วยตอกเป็นระยะ ๆ ห่างกันพอสมควรให้ได้ ๘ กำมือ แล้วผูกติดกันให้ได้กว้างประมาณ ๑ ศอก ปูไว้ที่โคนต้นศรี (ต้นโพธิ์) ที่เตรียมไว้แล้วนั้น แล้วอาราธนาอันเชิญพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาประดิษฐานประทับนั่งเหนือบนหญ้าคาเขียวนั้น โดยผินพระพักตร์ (เบ่นหน้า) ไปทางทิศตะวันออก แล้วหาขี้ผึ้งแท้บริสุทธิ์มาปิดพระเนตรทั้งสองข้าง (เฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหม่) บางท้องถิ่นนิยมปิดที่พระโอษฐ์ด้วย ขณะที่ปิดขี้ผึ้งพระพุทธรูปอยู่นั้น ให้บริกรรมพระคาถาว่า ทิพพะจักขุ สะมันตาจักขุ ปัญญาจักขุ พุทธะจักขุ ธัมมะจักขุ สังฆะจักขุ ปะวะระทะวายัง สะวาหะ ๓ จบแล้วหาผ้าขาวบริสุทธิ์ทำเป็นกรวยครอบพระเศียรคลุมลงให้หุ้มพระพักตร์ จัดหาหม้อขาว ๔ ใบใส่น้ำพอประมาณ ตั้งไว้ ๔ แจ่ง (สี่มุม) ต้นศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธรูปองค์ใหม่นั้น เอาด้ายสายสิญจน์เวียนเกี้ยว ๓ รอบ (๗ หรือ ๙ รอบก็ได้) จัดหาภาชนะใบใหญ่มาตั้งไว้ทางพระหัตถ์ข้างขวาของพระพุทธรูป แล้วปั้นขี้ผึ้งเป็นรูปพญานาค ๑ ตัว วางติดไว้ในภาชนะนั้น แล้วเติมน้ำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยของภาชนะนั้น แล้วหาถาดทอง ๑ ใบ ลอยไว้ในภาชนะนั้น ปั้นม้ากัณฐกะ ๑ ตัว และหาดาบ หรือพระขรรค์ ๑ เล่ม วางไว้ข้าง ๆ ภาชนะนั้นฯ

จำนวนเทียนที่ใช้ในพิธี
เทียนชัยใหญ่ ๑ เล่ม (ไส้เทียน ๑๐๘ เส้น), เทียนมงคลส่องสายตาพระเจ้า ซ้าย ขวา ๒ เล่ม (ไส้เทียน ๓๘ เส้น), เทียนนวโลกุตตระ ๙ เล่ม (ไส้เทียน ๓๗ เส้น), เทียนโสฬสะ ๑๖ เล่ม (ไส้เทียน ๓๒ เส้น), เทียนบูชาพระรัตนตรัย หรือเทียนวิปัสสิ ๔ เล่ม (ไส้เทียน ๕๖ เส้น)

เครื่องบูชา (ขันตั้ง)
มีเบี้ยปันสาม, หมากปันสาม, ข้าวเปลือกหมื่น (สิบลิตร), ข้าวสารปัน (หนึ่งลิตร), ผ้าข้าวรำ ผ้าแดงรำ (อย่างละม้วน), เทียนเล่มบาท ๑ คู่, เทียนเล่มเฟื้อง ๑ คู่, เทียนน้อย ๔ คู่, พลู ๔ สวย, หมาก ๔ ขด ๔ ก้อม, สาดใหม่ ๑ ผืน, หม้อใหม่ ๑ ใบ, น้ำบวยใหม่ ๑ คัน, วี (พัด) หางนกยูง ๑ ใบ, มะพร้าว ๑ ขะแนง, กล้วย ๑ เครือ, อ้อย ๔ เล่ม, เงิน ๖๐๐ แถบ (เงินโบราณ - ปัจจุบันใช้เหรียญบาทแทน), แว่นสายตาพระเจ้า (กระจกเงา) ๓ ใบ สำหรับตั้งไว้เฉพาะเบื้องพระพักตร์พระพุทธรูปใหม่ ๑ ใบ ตั้งไว้ด้ายซ้าย ๑ ใบ ด้านขวา ๑ ใบ โดยให้หันหน้าแว่นเข้าไปทางพระพุทธรูป, จัดเทียนขี้ผึ้งแท้เล่มบาทไว้ ๙ เล่ม ตั้งไว้เฉพาะหน้าพระพุทธรูปใหม่ (สำหรับจุดบูชาเบิกพระเนตรตอนใกล้รุ่ง) จัดพานดอกไม้ ธูปเทียน สำหรับบูชาแก้ว ๕ โกฐากส์ ตั้งบาตรน้ำมนต์พร้อมด้ายสายสิญจน์โยงมา รอบบาตรน้ำพระพุทธมนต์ โดยเวียนเกี้ยวทักขิณาวัฏ (เวียนขวา) ๓ รอบ จัดเทียนเล่มบาทขี้ผึ้งแท้ ๑ เล่ม สำหรับบาตรน้ำพระพุทธมนต์เพื่อจุดบูชาเวลาสวดมนต์ตอนหัวค่ำ

วิธีเจริญพระพุทธมนต์ (สวดมนต์ตั๋น)
การเจริญพระพุทธมนต์ หรือที่เรียกกันในหมู่สงฆ์ล้านนาว่า สวดมนต์ตั๋น นั้น เป็นการสวดมนต์แบบโบราณ ซึ่งครูบาอาจารย์นิยมใช้สวดกันมาแต่กาลก่อน ได้เรียบเรียงตามต้นฉบับเดิม (ปั๊บสา) การเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีต่าง ๆ นั้นก็แล้วแต่พระเถระผู้เป็นประธานพิธีจะสวดเต็ม หรือสวดย่อก็ได้ หรือจะเพิ่มบทสวดมนต์ และพระคาถาอื่น ๆ ที่เห็นว่าดี เหมาะสมเคยนำมาใช้สวดแต่ก่อนก็สามารถสวดเพิ่มเติมได้เช่นกัน ซึ่งที่นิยมเพิ่มเข้ามา เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คาถานกคุ่ม คาถาหว่านทราย คาถาปลาช่อน คาถาขอฝน เมตเตยโย เป็นต้น

เวลาในการประกอบศาสนพิธี
การกระทำมงคลกรรม อบรมสมโภชพระพุทธรูปนั้นมีอยู่ ๒ เวลา คือ เวลาย่ำค่ำ (ประมาณ ๑ ทุ่ม หรือเวลา ๑๙.๐๐ น.), และเวลาย่ำรุ่ง (ประมาณ ๐๔.๐๐ น.)  สำหรับลำดับขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมในเวลาต่าง ๆ นั้นจะได้กล่าวโดยละเอียดเป็นลำดับต่อไปฯ

ข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส
ขั้นตอนการทำข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาสนั้น  อันดับแรกต้องหาผู้หญิงที่บริสุทธิ์หมดใส ไม่เคยมีแฟน ไม่เคยมีมีเจ้ามีผัว
นำมาจำนวน ๙ คน ให้มาสวมใส่ชุดขาว ไหว้พระรับศีล ๘ และ นอนวัด จนถึงเวลา ตี ๓.๓๐ น. ให้ตื่นลุกมาล้างหน้าแปงฟันสีหน้าสีตาให้เรียบร้อยจากนั้น ลังไฟตั้งกระทะ ทำข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส  ส่วนประกอบที่นำมาโคนข้าวทิพย์นั้นประกอบไปด้วย
๑. ข้าวสวยหุงสุก ๖ ลิตร
๒. เนย ๑ กิโลกรัม
๓. กะทิสด ๒ กิโลกรัม
๔. น้ำตาลทราย ๒ กิโลกรัม
๕. น้ำอ้อย ๑ กิโลกรัม
๖. นมข้นหวาน ๒ กระป๋อง
๗. น้ำผึ้ง ๒ ขวด
๘. งาขาวคั่ว ๑ กิโลกรัม
๙. เม็ดบัวต้มสุก ๑ กิโลกรัม
ส่วนประกอบที่กล่าวมานี้เป็นอัตราส่วนต่อหนึ่งกระทะ หากต้องการเพิ่มปริมาณต้องเพิ่มอัตราส่วนตามนั้นก็แล้วแต่

วิธีการโคนข้าวทิพย์นั้นมีวิธีดังนี้
๑. เมื่อตั้งกระทะร้อนได้ที่แล้ว ให้ใส่กะทิลงไปเคี่ยวจนแตกมัน
๒. ใส่น้ำอ้อยลงไปเคี่ยวให้น้ำอ้อยละลาย
๓. จากนั้นให้ใส่น้ำตาลทราย นมข้น เนย และน้ำผึ้งลงไป เคี่ยวให้เข้ากัน รอจนส่วนประกอบทั้งหมดเข้ากันดีแล้ว ให้สังเกตว่าจะออกสีเหลืองเป็นเงามันและมีกลิ่นหอม จากนั้นให้เบาไฟ ทิ้งส่วนผสมที่โคนเข้าที่แล้วให้เย็นตัวลงพออุ่น
๔. ใส่ข้าวสวยที่หุงสุกแล้วลงไป โคนให้ส่วนประกอบทั้งหมดเข้ากัน ขณะที่โคนข้าวให้ใช้ไฟอ่อนๆ เพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ ขณะที่โคนข้าวนี้จะใช้เวลาพอสมควรรอจนข้าวที่โคนนั้นเหนียว และมีกลิ่นหอม
๕. ใส่งาคั่วและเม็ดบัวลงไปกวนให้ส่วนประกอบทั้งหมดเข้ากันดีแล้ว ให้ตักข้าวที่กวนออกใส่ถาดให้เย็นตัวลง
เมื่อเสร็จสิ้นการกวนแล้วให้ตักข้าวทิพย์ที่ได้จากการกวนใส่ถาด เพื่อให้คลายความร้อนลงสักพักก่อน ก่อนที่จะเริ่มนำข้าทิพย์มาปั้นเป็นก้อนๆ จำนวนสี่สิบเก้าก้อน เพื่อถวายขณะประกอบพิธีเบิกเนตร จำนวนข้าวทิพย์สี่สิบเก้าก้อนนี้ เป็นจำนวนที่พระพุทธเจ้าทรงปั้นเสวยในวันที่ทรงตรัสรู้ ข้าวทิพย์ที่ใช้ในพิธีเบิกเนตรนั้น ควรจัดภาชนะรองให้สวยงาม เช่นการจัดเตรียมพานหรือถาดทองเหลือง รองด้วยใบตองเย็บขอบให้สวยงาม เมื่อปั้นข้าวทิพย์ได้ตามจำนวนสี่สิบเก้าก้อนแล้ว ข้าวทิพย์ที่ในส่วนที่เหลือนั้นนำมาจัดใส่ถุงเล็กๆ ขนาดพอคำ เพื่อเตรียมไว้สำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานโดยทั่วกัน ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าข้าวทิพย์จากพิธีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเสมือนยาอายุวัฒนะเมื่อทานแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคล มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนนั้นเอง ฯ