วันเข้าพรรษา อีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนา โดยคำว่า เข้าพรรษา แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

วันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2559 ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำวัดที่ใดที่หนึ่ง ระหว่างช่วงฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามพระธรรมวินัย หรือที่เรียกกันว่า จำพรรษา จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือกรณีมีเดือน 8 สองหนจะนับเอาเดือน 8 หลัง และสิ้นสุดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่าวันออกพรรษา

ประวัติวันเข้าพรรษา
เริ่มขึ้นเนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงอนุญาติให้พระสงฆ์จำพรรษา ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการเดินทางที่ยากลำบาก และเพื่อป้องกันการทำให้เกิดความเสียหายจากการเดินเหยียบผลผลิตของชาวบ้านในช่วงฤดูฝน ที่สำคัญคือเป็นช่วงที่พระสงฆ์จะได้อยู่จำพรรษาร่วมกันภายในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และแลกเปลี่ยนความรู้กันในหมู่คณะสงฆ์

ความสำคัญวันเข้าพรรษา

1.ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านทำไร่นา ได้กำหนดให้พระภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆเพื่อป้องกันความเสียหายต่อพันธุ์พืช หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย จากการเดินธุดงค์
2.หลังจากการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
3.เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอน เมื่อออกพรรษา
4.เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอน และบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป
5.เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์

1.การไปรักษาพยาบาล หรือดูแลบิดามารดาเจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่ต้องการสึก มิให้สึกได้
3.ไปเพื่อธุระของคณะสงฆ์ เช่น การหาอุปกรณ์ซ่อมแซมกุฏิ
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ สามารถไปได้ แต่หากโยมไม่ได้เป็นผู้มานิมนต์ จะไปค้างไม่ได้

กิจกรรมและพิธีวันเข้าพรรษาในประเทศไทย

1.ทำบุญตักบาตร ถือศีล                                
2.การถวายเทียนพรรษา และหลอดไฟ
3.การถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย
4.ตั้งจิตอธิษฐานทำความดี งดเว้นอบายมุขต่างๆ   

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันเข้าพรรษา พ.ศ.2551 รัฐบาลไทยประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย