ประเพณีทานก๋วยสลาก

ประวัติความเป็นมาของก๋ารตานข้าวสลากภัตต์
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้มีนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขิณีผู้มีเวรทำลายครรภ์กัน (แท้งบุตรต่อกัน) หลายภพหลายชาติ ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางกุมารีได้พาลูกวิ่งหนีเข้าไปในพระเชตะวันวิหาร ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วไหว้สาว่า ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ของทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของข้าเจ้าหน่อยเต๊อะว่าอั้น” เมื่อนางยักขิณีติดตามมา พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาการอันจองเวรซึ่งกันและกัน จะไม่มีวันอันจบสิ้นกันเลย เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร พระก็เทศนาให้นางทั้งสองเห็นผิดชั่วดี แล้วก็ให้นางรับศีล 5 ทำให้นางยักขิณีได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมานางยักขิณีได้เป็นเพื่อนกับนางกุมารี และนางกุมารีก็ได้บำรุงเลี้ยงดูเป็นอย่างดี นางยักขิณีสำนึกในบุญคุณ จึงได้ใช้วิทยาคุณในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศเพื่อการทำนาแก่นางกุมารีว่าปีใดฝนดีน้ำมากให้ทำนาในที่ดอน ปีใดที่ฝนแล้งน้ำแห้ง ให้ทำนาในที่ลุ่ม ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนชาวบ้านมักประสบปัญหาข้าวกล้าเสียหาย พอทราบเรื่องว่านางกุมารีเก็บเกี่ยวได้ผลดี จึงขอร้องให้นางยักขิณีช่วยเหลือ จนกระทั่งผลผลิตข้าวอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ชาวบ้านจึงพากันนำเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้แก่นางยักขิณีมากมาย นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตขึ้นถึง 8 แห่ง โดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับสลาก ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อยพระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็ไม่เสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชควาสนาของตน การถวายสลากภัตนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญทานสลากในพระพุทธศาสนา   
ความหมาย และความสำคัญของประเพณีทานก๋วยสลาก
  การทานก๋วยสลาก เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งเป็นการสร้างกุศลให้แก่ตนเองในภายภาคหน้าให้ได้เกิดในภพภูมิสวรรค์ และปรารถนาสูงสุดคือ พระนิพพาน ประเพณีทานก๋วยสลากนั้นเป็นการทำบุญที่ไม่จำเพาะเจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง แต่มีการจัดทำสลากเป็นหมายเลขติดก๋วยของศรัทธาที่นำมาถวาย และนำสลากไปรวมกัน เพื่อให้พระสงฆ์ทุกรูปที่รับนิมนต์จับสลาก หากพระภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ของศรัทธาผู้ใด ผู้นั้นจะยกก๋วยสลากนั้นถวายแด่พระสงฆ์รูปนั้น เนื่องจากประเพณีการทำบุญทานก๋วยสลากเป็นประเพณีทำบุญกลางบ้านที่ยิ่งใหญ่และสำคัญของล้านนา รวมทั้งเป็นประเพณีที่มีคติธรรมทางพุทธศาสนา โดยมีแก่นสาระคือ การสั่งสอนให้คนรู้จักบาปบุญคุณโทษ สอนให้สร้างความดีในชาตินี้เพื่อผลบุญในชาติหน้า สอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว งานทำบุญทานก๋วยสลากเป็นงานทำบุญที่ต้องจัดอย่างใหญ่โต เป็นหน้าเป็นตาวัดของชุมชน ซึ่งการจัดงานจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ และความสามัคคีของคนจำนวนมาก จึงเป็นการส่งเสริมการสร้างความสามัคคี และความปรองดองในหมู่คณะ ในทางคติธรรม การทานก๋วยสลากยังมีคติสอนใจพระภิกษุสามเณรมิให้ยึดติดในลาภสักการะทั้งหลาย เพราะสลากที่ศรัทธานำมาถวายนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันไป พระสงฆ์และสามเณรจึงไม่ควรยึดติด  
พิธีทานก๋วยสลาก
ก่อนวันทำพิธีทานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่า วันดา” (วันสุกดิบ) คือ วันที่จัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงจะมาช่วยแต่งดาจัดครัวทานและร่วมทำบุญ (ไฮ่ฮอม) ข้าวของเงินทางผลหมากรากไม้ ผู้ชายจะจักตอกสายก๋วย (ตะกร้า)เตรียมไว้ ส่วนผู้หญิงจะจัดเตรียมห่อของทำบุญ ตามแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์ ของที่เตรียมส่วนใหญ่ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ข้าวต้ม ขนมต่างๆ หมาก เมี่ยง บุหรี่ เป็นต้น เครื่องอุปโภค เช่น ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า เครื่องใช้สอยต่างๆ สิ่งของเหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วย ที่กรุด้วยใบตองหรือกระดาษปิดมัดรวมกันเป็นมัดๆสำหรับเป็นที่จับ ตรงส่วนที่รวบไว้นี้จะมีเงินเสียบไม้ไผ่อยู่ เรียกว่า ยอด” ซึ่งจะมากน้อยแล้วแต่กำลังศรัทธา   และจะมีช่อ นำทานใบเล็กๆ หลากสีปักเสียบไว้ที่ก๋วยสลาก
วันรุ่งขึ้นเป็นวันทานสลาก ศรัทธาจะให้ลูกหลานเอาเสื่อไปปูลานวัดหรือตามศาลาบาตร แล้วนำเอาก๋วยสลากไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จะจัดเตรียม ขันดอก ใส่ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดเป็นหมู่ ส่วนใหญ่จะไปกันทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานก๋วยสลากได้อานิสงค์มาก และเพื่อถวายพระในเวลาที่มีการเรียก เส้นสลาก”  
เครื่องประกอบพิธีกรรม ก๋วยสลาก หรือต้นสลาก
ต้นสลาก หรือ ก๋วยสลาก เป็นเครื่องไทยทานที่ศรัทธานำมาถวายพระภิกษุสามเณร แบ่งออกเป็น 5 ประเภท
     ๑. ต้นสลากเล็ก เรียกว่า ก๋วยซอง” หรือ ก๋วยน้อย” บางแห่งเรียกว่า ก๋วยขี้ปุ๋ม” เป็นก๋วยสานด้วยตอกไม้ไผ่ เป็นรูปตะกร้าทรงสูงปล่อยเส้นตอกให้พ้นจากตัวตระกร้าขึ้นไป รองด้วยใบตอง ใส่ข้าวปลาอาหารครัวทานทั้งหลาย ผลไม้ที่ใส่ในก๋วยซองจะมีขนาดเล็ก เช่นกล้วยประมาณ ๒ ลูก ส้มโอตัดเป็นชิ้นเล็กๆ อ้อยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๑ คืบ มะปราง และส้มเป็นต้น เมื่อใส่สิ่งของครบแล้วจึงรวบตอกที่พ้นขึ้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากก๋วย เสียบยอดด้วยดอกไม้และติดใบด้วยเหรียญหรือธนบัตรจำนวนน้อย ไม้เสียบสลากจะทำด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร
      ๒. ต้นสลากขนาดกลาง เรียกว่า ก๋วยสำรับ” คือภาชนะที่ใช้บรรจุข้าว อาหาร ในสมัยโบราณสานด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ เช่นเดียวกับ  ก๋วยตีนช้าง” “เพียด” “พ้อม” และซ้าข้าวบาตร ภาชนะจะสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นเครื่องจักสานที่ชาวบ้านมีไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังใช้กาละมัง และถังน้ำ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่และมีปริมาณมากกว่าต้นสลากเล็ก
      ๓. ต้นสลากโชค เป็นสลากที่จัดทำเป็นพิเศษกว่าสลากธรรมดา ภาชนะที่ใช้เป็นต้นสลากบรรจุทำด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่สาน เช่น กระบุง หรือกาละมังขนาดใหญ่ ถังเปล และโอ่งน้ำ เพื่อใช้บรรจุข้าวปลาอาหารและผลไม้ให้ได้จำนวนมาก ต้นดอกทำจากใบคาหรือฟางข้าว มัดด้วยตอกเป็นลำต้นปักเสียบด้วยดอกไม้กระดาษแล้วติดธนบัตรจำนวนมาก ผู้ถวายมักจะมีฐานะดีการเงินไม่ขัดสน ในสมัยก่อนมักจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กๆ มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่นหม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอนหมอนมุ้ง เสื่ออ่อน ไม้กวาด เครื่องนุ่มห่ม อาหารสำเร็จรูป ๑ สำรับ (ขันโตกข้าว) และรอบๆเรือนหลังเล็กจะมีต้นกล้วยต้นอ้อยผูกติดไว้แล้วยังมียอดเงินจำนวนมาก
       ๔. ต้นสลากย้อม เป็นการทานสลากจากหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ โดยหญิงสาวจะต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว เมื่อได้เงินทองมาพอสมควรและเป็นสาวเต็มตัวแล้ว และมีการทานสลากในชุมชนนั้น จะต้องเตรียมสลากย้อมไว้ สลากย้อมนี้จะทำเป็นต้นไม้สูง หรือกิ่งไม้สูงประมาณ ๔-๕ วา มีร่มกางที่ปลายยอด บางแห่งจะทำเป็นรูปนกหรือหงส์ มีปากคาบเหรียญเงินหรือธนบัตร   ลำต้นสลากจะมีฟางมัดเป็นกำๆ เพื่อจะได้ปักไม้ และเครื่องไทยทานต่างๆเช่นเดียวกับต้นสลากโชค เครื่องใช้จะแขวนกับกิ่งดอก ส่วนใหญ่เป็นของใช้ของหญิงสาว เช่น กระจก หวี น้ำมันทาผม น้ำหอมและผ้าเช็ดหน้า หญิงสาวมักนิยมทานสลากย้อมถวาย เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุขความเจริญ หากหญิงสาวผู้ใดที่ยังไม่ได้ทานสลากย้อม ก็ยังไม่ควรแต่งงานมีครอบครัว บางครั้งถ้าหญิงสาวเจ้าของเป็นคนสวยมีผู้ชายหมายปองมาก เวลาถวายทานสลากพระให้พรแล้ว ชายหนุ่มก็จะขอบูชาเอาของไป เช่น รูปถ่าย ผ้าเช็ดหน้าลายปักฝีมือหญิงสาวผู้นั้น พระท่านไม้รู้จะให้ใครจึงมีการประมูลกัน ผู้ให้มากก็จะได้ของไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะเอาเพียงภาพถ่าย และผ้าเช็ดหน้า ชายหนุ่มก็จะนำไปอวดหญิงสาวผู้นั้น แล้วเอ่ยเป็นคำหยอกเหล้นว่า 
       ๕. สลากมหาชมพู หรือสลากพญาชมพู หรือสลากพระอินทร์ เป็นการเรียกการทานสลากที่เคยได้ทำขึ้นในอดีต เช่น ที่บ้านกู่แดง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ปัจจุบันการทานสลากประเภทนี้ได้หายไป แต่ไปปรากฏในเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งพี่น้องไทขึนนิยมทานสลากประเภทนี้กันมาก โดยจะเป็นการรวมกันทำก๋วยสลากของหญิงสาวในหมู่บ้าน หรือญาติพี่น้อง ๒-๓ หลังคาเรือน ร่วมกันนำเอาสิ่งของประเภทเครื่องใช้ เครื่องนอน กล้วย อ้อย ส้มโอ เครื่องเขิน เครื่องทอง บรรจุลงไปในก๋วยที่ประดับประดาอย่างสวยงาม พร้อมดอกไม้ธูปเทียน แล้วจัดขบวนแห่เหมือนกับขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด จะนำด้วยพานดอกไม้ธูปเทียน ขบวนฟ้อน ขบวนฆ้องกลอง เมื่อไปถึงก็จะนำไปไหว้หน้าพระประธาน แล้วจึงถวายทานแด่พระภิกษุผู้จับสลากมหาชมพูนี้ได้ โดยผู้ถวายจะอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวร พญาอินทร์ พญาพรหม ฯลฯ
       ๖. ต้นสลากหลวง หรือเรียกว่าต้นโชคหลวง ทำขึ้นด้วยวัสดุหลายอย่าง บางแห่งทำเป็น ช้างฝ้าย” หรือ ม้าฝ้าย” ด้วยการสานโครงไม้ไผ่รูปช้างหรือรูปม้าแล้วเอาเส้นฝ้ายปั่นที่ทอเป็นผ้าแล้ว หุ้มโครงส่วนบนของรูปสัตว์เหล่านั้นทำเป็นต้นดอก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้กระดาษ บางท้องถิ่นทำเป็นซองอ้อยมีต้นดอกหรือกิ่งไม้แขวนด้วยของกินของใช้ต่างๆ บางแห่งใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ แขวนของกินของใช้ตั้งแต่ปลายถึงโคน หรือสร้างเป็นบ้านจำลอง หรือสร้างเป็นรูปปราสาท มีข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นทุกอย่าง หรือบางท้องถิ่นก็สร้างเป็นยุ้งข้าวแล้วใส่ข้าวเปลือกจำนวนหลายถังไว้ข้างใน พระภิกษุสามเณรรูปใดได้รับก็ต้องให้ญาติพี่น้องช่วยกันหาบขนกลับวัด
เส้นสลาก
    เมื่อชาวบ้านทั้งหลายนำก๋วยสลากแห่แหนไปที่วัดในตอนเช้าก่อนเพลแล้ว ก็จะนำก๋วยสลากทุกก๋วยไปแจ้งคณะกรรมการจัดงานไว้ หรือลงเบอร์ไว้ เรียกว่า ขึ้นเส้นสลาก” หมายถึงการนำก๋วยสลากไปแจ้งให้แก่คณะกรรมการจัดงานไว้ว่าเป็นก๋วยสลากของใคร จากหัววัดไหน จะถวายให้แก่ใคร (อุทิศให้ใคร) โดยเขียนข้อความลงในแผ่นใบลาน หรือกระดาษแผ่นยาวๆ โดยเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก แล้วมรรคทายก หรืออาจารย์ จะเก็บรวบรวมเอาเส้นสลากทั้งหมด แล้วนำเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากหัววัดต่างๆ นั้นหารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนของ พระเจ้า” หมายถึงพระพุทธรูป 
บางแห่งจะแบ่งเส้นสลาก ออกเป็น ๓ กอง (ส่วน) คือ ก๋วยสลากของพระเจ้า (พระพุทธรูป) และอีก ๒ ส่วนจะแบ่งเฉลี่ยออกไปให้พระสงฆ์ และสามเณรทุกรูปที่มาในงาน หากมีเศษเหลืออยู่ก็ปัดเป็นของวัดที่จัดงานนั้นไป  จากนั้นก็นำก๋วยสลากไปกองรวมกันไว้ตามจุดต่างๆ บริเวณศาลาบาตร หรือปะรำที่ทางวัดจัดไว้
เส้นสลากสมัยโบราณทำด้วยใบตาล นำมาตากให้แห้ง และตัดแต่งให้กว้างประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔๐ x ๔๐ เซนติเมตร แล้วตัดหัวท้ายให้แหลม โดยเฉพาะส่วนหัวของใบตาลหรือใบลานนั้นจะต้องตัดหัวให้แหลม โดยเฉพาะส่วนหัวของใบตาลหรือใบลานนั้นจะตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อให้เขียนชื่อเจ้าของสลาก และความปรารถนาของผู้ถวาย เส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลากจะเอาใบลาน หรือกระดาษมาตัดเป็นเส้นยาวๆ กว้าง ๒-๓ นิ้ว จารึกชื่อเจ้าของและบอกไว้ว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง

รายการอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ.  (2537).  ชีวิตไทย ชุดฮีตฮอยเฮา.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ .